คุยสร้างสัมพันธ์: จำลองสถานการณ์คุณต้องเดินทางเพื่อไปติดต่องานกับลูกค้าระดับ V.V.I.P เพื่อขายงานชิ้นสำคัญของบริษัท และหากคุณขายงานชิ้นนี้ไม่สำเร็จ บริษัทของคุณจะเจ๊งย่อยยับในทันที จากเงินทั้งหมดที่ลงทุนที่ไปกับงานนี้
ตอนนี้ความหวังของทั้งบริษัทอยู่ในกำมือคุณคุณไม่อาจทำงานนี้พังได้คุณจึงเริ่มที่จะวางแผนจนคุณคิดมาได้ว่า
“ถ้าจะเริ่มธุรกิจที่ดีได้ ต้องเริ่มสร้างความสัมพันธ์ที่ดีให้ได้ก่อน”
คำคม
เราจะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีอย่างไร
แต่ดันมีคำถามอยู่ว่าเราจะเริ่มสร้างความสัมพันธ์กับเป้าหมายของเราได้อย่างไร? แน่นอนว่าเราไม่อาจนำกุญแจดอกเดียวไขกับทุกแม่กุญแจได้ การสื่อสารก็เช่นกัน ผู้คนมีมากมายหลากหลายประเภท เราจึงต้องใช้วิธีการสื่อสารที่ต่างกันไป เพื่อให้ผลลัพธ์และความสัมพันธ์ออกมาดีที่สุด
ฉะนั้นหากเราจะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า หรือคนรอบตัว เราก็ต้องเริ่มกันจากการแยกแยะประเภทของคู่สนทนาของเรา ซึ่งสามารถแบ่งได้ทั้งหมด 5 ประเภทใหญ่ ๆ ดังนี้
ประเภทที่ 1 คนประเภทเจ้านาย
คนประเภทนี้มักเป็นคนมีความสามารถสูงในขณะเดียวกันก็มีความภูมิใจในตัวเองสูงด้วยจึงสามารถตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว มักเป็นคนพูดตรง ๆ ส่วนมากมักเป็นผู้บริหาร หรือหัวหน้างาน

สามารถแยกคนประเภทนี้ได้จากลักษณะ
- พูดเร็ว
- ตั้งใจฟังเรื่องที่ตัวเองสนใจ
- ชอบถามแทรกระหว่างการสนทนา
- มักทำท่าทางเหมือนกำลังประเมินอีกฝ่ายอยู่
- กอดอกขณะฟังคนอื่นพูด
วิธีรับมือ
คุณสามารถดึงดูดความสนใจพวกเขาด้วยการคุยเล่นโดยพูดถึงเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อพวกเขาและเนื่องจากคนประเภทนี้มีความภูมิใจในตัวเองสูงคุณก็สามารถเอ่ยชมพวกเขาได้เช่นกัน
เมื่อพวกเขาต้องการทราบอะไรสักอย่าง คุณควรพูดสรุปก่อน แล้วค่อยแจกแจงรายละเอียดย่อย และพยายามหลีกเลี่ยงการพูดเปล่าที่ประโยชน์ และการตอบไม่ตรงคำถาม เพราะจะทำให้พวกเขาไม่อยากคุยกับคุณในทันที
* จริง ๆ แล้วคนประเภทนี้ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่เราคิด คนประเภทนี้มีนิสัยเรียบง่าย ทำให้สร้างความสัมพันธ์ด้วยไม่ยากหากได้สนิทสนมด้วยแล้ว พวกเขาจะดูแลคุณเป็นอย่างดีเลยทีเดียว
ประเภทที่ 2 คนดีที่อ่อนโยน
คนประเภทนี้เป็นคนที่อ่อนโยน ใจกว้าง เห็นอกเห็นใจผู้อื่น มักยิ้มแย้ม และมีอารมณ์ร่วมกับการคุยเล่นของเราถึงคนประเภทนี้จะคุยเล่นไม่เก่ง แต่ก็สามารถรับฟังได้อย่างสนุกสนาน

สามารถแยกคนประเภทนี้ได้จากลักษณะ
- มีบุคลิกภาพที่ทำให้รู้สึกดี
- พยักหน้าระหว่างฟังคนอื่นพูดเสมอ
- พูดเนิบ ๆ แสดงปฏิกิริยาตอบรับช้า ๆ
- พูดค่อนข้างยาว รายละเอียดครบถ้วน แต่ไร้ข้อสรุป
- มักหลีกเลี่ยงการพูดเชิงปฏิเสธคู่สนทนา เช่น คำว่า แต่
วิธีรับมือ
ควรหาจังหวะที่เหมาะสมแล้วพูดเข้าประเด็น เพื่อกระตุ้นให้อีกฝ่ายตัดสินใจเนื่องจากคนประเภทนี้ตัดสินใจไม่ค่อยเก่งมากนักไม่ควรรีบร้อน และควรทำให้บรรยากาศผ่อนคลายที่สุด พยายามหลีกเลี่ยงการออกคำสั่ง และทำให้พวกเขาร่วมคิดตัดสินใจไปด้วยกับเราจะดีที่สุด
ประเภทที่ 3 คนประเภทนักวิเคราะห์
คนประเภทนี้มักจดจ่อกับสิ่งที่ตัวเองสนใจ อะไรที่พวกเขาตัดสินใจว่าไม่สำคัญ ความสนใจจะหายไปในทันที มักมีความใฝ่รู้สูง พูดน้อยแต่เฉียบคม มักอ้างอิงหลักเหตุผล และมักเรียกร้องข้อสรุปเหมือนกับคนประเภทเจ้านาย

สามารถแยกคนประเภทนี้ได้จากลักษณะ
- ดูเป็นคนมีระเบียบ
- ไม่ค่อยแสดงปฏิกิริยาตอบรับระหว่างคุย
- ตอบคำถามอย่างสุขุม
- ถามในเรื่องที่ยังไม่ชัดเจนบ่อย ๆ
- สนใจในรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ
วิธีรับมือ
เวลาคุยเล่นกับคนประเภทนี้ควรหลีกเลี่ยงการคุยเรื่องตลก หรือซุบซิบนินทา แต่ควรคุยเรื่องที่พวกเขาสนใจ ยิ่งรู้ว่าพวกเขาสนใจเรื่องอะไรไว เรายิ่งรับมือได้ง่ายขึ้น ตอนนำเสนอให้ จัดอันดับเนื้อหาเป็นตัวเลข ว่าเรื่องที่คุณกำลังจะพูดมีกี่เรื่อง มีเรื่องอะไรบ้าง จากนั้นค่อยสรุป และค่อย ๆ อธิบายรายละเอียดยิบย่อย ที่สำคัญที่สุดคือต้องทำให้พวกเขาสนใจตั้งแต่เนิ่น ๆ แล้วจึงเพิ่มข้อมูลสนับสนุนเข้าไป เพราะหากพวกเขาไม่สนใจตั้งแต่เนิ่น ๆ พวกเขาจะหมดความสนใจกับสิ่งที่คุณพูดทันที
ประเภทที่ 4 คนสดใสร่าเริง
คนประเภทนี้มีทักษะการเข้าสังคมสูง ชอบเรื่องสนุก และชอบสื่อสารกับผู้คน จึงคุยเล่นได้ง่าย แต่พวกเขามักไม่ได้คิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล จึงควรที่จะคุยอย่างสนุกสนาน สบาย ๆ ไม่ใช้วิธีพูดคุยแบบเป็นระเบียบและจริงจังมากนัก

สามารถแยกคนประเภทนี้ได้จากลักษณะ
- พูดคุยด้วยรอยยิ้มและท่าทางสนุกสนาน
- ทำให้การสนทนาครึกครื้นด้วยอารมณ์ขัน
- มักจะขำกับสิ่งที่ตัวเองพูดออกมา
- แสดงปฏิกิริยาตอบรับอย่างเกินจริง
- ไม่ค่อยได้ฟังที่อีกฝ่ายพูด
วิธีรับมือ
คุณต้องตั้งใจฟังอยู่ตลอดเวลา เพื่อที่จะสามารถตอบรับได้ และควรถามพวกเขาอยู่เรื่อย ๆ เพื่อให้บทสนทนาลื่นไหลต่อไป ถ้าอีกฝ่ายเริ่มที่จะพูดออกนอกเรื่อง ให้คุณปรับทิศทางเรื่องที่คุยกลับไปอย่างลื่น ๆ จนพวกเขาไม่รู้ตัว เพื่อให้ดูไม่เป็นการตัดบทสนทนาจนเกินไป ควรวางท่าทีในแง่บวกทั้งคำพูดและสีหน้าอยู่เสมอ คุณจะได้รับการไว้วางใจจากพวกเขา แล้วบรรยากาศการคุยนี้จะครึกครื้นยิ่งขึ้นเอง
ประเภทที่ 5 คนขี้เกรงใจ
คนประเภทนี้เป็นคนเรียบร้อยไม่ค่อยแสดงความคิดเห็นของตัวเอง และตัดสินใจไม่เก่งนัก มักชอบความเป็นอิสระและการตัดสินใจทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเอง

สามารถแยกคนประเภทนี้ได้จากลักษณะ
- ดูเป็นคนจิตใจดี มีภาพลักษณ์อ่อนโยน
- พยักหน้าระหว่างฟังอยู่เสมอ
- มีความรู้สึกร่วมกับอีกฝ่าย
- ไม่ค่อยแสดงความคิดเห็น
- ไม่เรียกร้องสิทธิของตัวเอง จึงไม่ค่อยโดดเด่น
วิธีรับมือ
คุณต้องปรับตัวให้เข้ากับคนประเภทนี้ เช่น เมื่อพวกเขาพูดช้า คุณก็ต้องปรับให้ตัวเองพูดช้าลงด้วย ไม่ควรเร่งรัดพวกเขาในการตัดสินใจต่าง ๆ เพราะอาจทำให้พวกเขาปิดใจลงได้ และหากพวกเขาเงียบไปเป็นพัก ๆ คุณก็ไม่ต้องตกใจไป เพราะว่าบางทีพวกเขาอาจกำลังประมวลผลในการตัดสินใจอยู่ ไม่ใช่การลำบากใจแต่อย่างใด
*เมื่อคุณสนิทและคุ้นเคยกันแล้ว
พวกเขาจะทำตัวค่อนข้างเป็นกันเองมาก ๆ จนคุณสามารถคุยกันได้อย่างง่ายสบาย ๆ
Reference
ขอขอบคุณข้อมูลจากรีวิวหนังสือ อย่าเป็นคนเก่งที่คุยไม่เป็น
โดยคุณ ยาซุดะ ทาดาชิ
หากคุณชอบบทความของเรา
อย่าลืมกดติดตาม เพื่อไม่พลาดการ “เกิดใหม่” ไปพร้อมกับพวกเรา ณ บางขุนเทียน
Facebook : TEDxBangkhunthian
Instagram : tedxbangkhunthian
Website : https://tedxbangkhunthian.com
เขียนและเรียบเรียงโดย : Phakkearth
ภาพ : Sofia